ตะเกียบ (箸 / Hashi) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักของคนญี่ปุ่น มีความหมายในทางสัญลักษณ์สำหรับคนญี่ปุ่นมาก จนมีคำกล่าวเกี่ยวกับตะเกียบว่า "ชีวิตของคนๆ หนึ่ง เริ่มต้นด้วยตะเกียบ และจบลงด้วยตะเกียบ" (人の一生は箸に始まり、箸に終わる)
ในช่วงอายุที่เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ชาวญี่ปุ่นจะมีการจัดพิธีที่เกี่ยวข้องกับตะเกียบ เช่น เมื่อเด็กทารกอายุครบ 100 วัน พ่อแม่จะจัดการฉลองที่เรียกว่า คุอิโสะเมะ (食い初め / อาหารมื้อแรก) ทารกจะได้พบกับตะเกียบเป็นครั้งแรก ส่วนพิธีฉลองอื่นๆ ที่เกี่ยวกับตะเกียบได้แก่ เอ็นมุซุบิฮะชิ (縁結び箸 / ตะเกียบจับคู่), เมะโอะโตะฮะชิ (夫婦箸 / ตะเกียบคู่แต่งงาน), โชจูฮะชิ (長寿箸 / ตะเกียบอายุยืนยาว) เป็นต้น
ตะเกียบในทางศาสนาพุทธของญี่ปุ่น เมื่อมีคนตายจะใช้ผ้าหรือสำลีพันปลายตะเกียบแบบฉีกที่ชุ่มชื่นด้วยน้ำมัตสุโงะโนะมิสุ (末期の水 / น้ำหยดสุดท้าย) แตะที่ริมฝีปากของผู้ตาย ส่วนถ้วยข้าวที่วางอยู่บนหัวนอนปักตะเกียบหนึ่งอัน มีความหมายว่า ผู้ตายจะได้ไม่อดอยากในโลกหน้า
ในงานฉลองปีใหม่ จะใช้ตะเกียบที่ทำจากไม้ต้นหลิว สีขาวไม่ทาสีทับ ปลายแหลมทั้งสองด้าน ต้นหลิว (柳 / Yanagi) เมื่อเขียนด้วยตัวอักษรจีนเพื่อให้ออกเสียงว่า Yanagi นั้น จะเขียนเป็น 「家内喜」 มีความหมายว่า"ความรื่นรมย์ยินดีภายในบ้าน" ซึ่งถือว่าเป็นคำมงคล เนื่องจากมีปลายแหลมทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งจึงมีไว้สำหรับเทพเจ้า และอีกด้านหนึ่งสำหรับมนุษย์ ซึ่งเปรียบเสมือนมนุษย์กับเทพเจ้ารับประทานอาหารร่วมกัน ตามความเชื่อในลัทธิชินโต
cr. http://jfoodsbkk.namjai.cc/e64098.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น